วันอังคารที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

สิ่งดีๆจากพ่อหลวงไทย

ประสบการณ์ดีๆที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงรับสั่งให้กำลังใจในการทำงาน
องคมนตรีสุเมธ ท่านได้เล่าให้ฟังว่า
“ตอนนั้นผมกำลังทำงานอยู่ในสภาพจิตใจที่แย่มาก
มันไม่มีกำลังใจจะทำอะไร
ท้อแท้กับงานมากไม่มีใครเข้าใจ เหมือนทำดีแต่ไม่ดี”
ในหลวงท่านทรงเสด็จมาพอดี
และท่านได้เห็นสีหน้าผมไม่สู้จะดี
ท่านได้สอบถามจนได้ความว่าผมกำลังท้อแท้กับงาน
ท่านจึงตั้งคำถามและรับสั่งว่า


ท่านสุเมธเคยขายเศษเหล็กไหม
เศษเหล็กเหล่านั้น เวลาขาย คุณค่ามันต่ำมาก
คงได้เงินมาไม่กี่บาท
แล้วถ้าเราเอาเศษเหล็กเหล่านั้นมาหลอมรวมกันเป็นแท่ง
เวลาหลอมนี่ เหล็กมันคงรู้สึกร้อนมาก
พอหลอมเสร็จเรานำมาทำเป็นดาบ
คงต้องนำมาตีให้แบนอีก
เวลาตีก็ต้องเอาไปเผาด้วย ต้องตีไป เผาไป
อยู่หลายรอบกว่าจะเป็นรูป เป็นร่างตาบอย่างที่เราต้องการ



ต้องผ่านความเจ็บปวด ความร้อนอยู่นาน
แถมเมื่อเสร็จแล้วถ้าจะให้สวยงามดังใจ
ก็ต้องนำไปแกะสลักลวดลาย
เวลาที่แกะลวดลายก็ต้องใช้ของแข็งมีคมมาตีให้เป็นลวดลายอีก
แต่เมื่อเสร็จเป็นดาบที่งดงามก็จะมีคุณค่าที่สูงมาก
เทียบกับเศษเหล็กคงจะต่างกันลิบลับ
จะเห็นว่ากว่าที่เศษเหล็กไม่มีคุณค่ามากนัก
จะกลายเป็นดาบอันงดงามนั้น
ต้องผ่านอุปสรรคมามากมาย
ทั้งความเจ็บปวดต่างๆกว่าจะประสบความสำเร็จ


ดั้งนั้น
ขอให้จำไว้อย่างหนึ่งว่า
“ใครไม่เคยถูกตี ถูกทุบ เจอเรื่องเลวร้ายในชีวิตมาเลยนั้นจงอย่าให้หาญคิดทำการใหญ่”

วันพฤหัสบดีที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

เพลง....... อาหารหลัก หรืออาหารเสริม

“สวัสดี สวัสดี ยินดีที่พบกัน เธอกับฉันพบกัน สวัสดี............”
“สุขกันเถอะเรา เศร้าไปทำไม……”
“อมพระมาพูดก็ไม่เชื่อ หน้าเนื้อใจเสืออย่างเธอ…….”
เนื้อร้อง จังหวะ และทำนองถูกเรียงร้อย เพื่อสื่อความหมาย ไม่ว่าจะเป็นแนวปฎิบัติตามวิถีไทย ความสุข ความงดงาม หรืออาจใช้เป็นทางระบายความทุกข์ของผู้แต่งกับผู้ฟังหรือเพื่อให้ผู้ฟังรู้สึกว่ายังมีคนที่เข้าใจความรู้สึกของเขา หรือแม้จะเสียดสีเพื่อให้เกิดความฮึกเหิมก็ตาม ซึ่งถือได้ว่าเป็นการกระทำเชิงสร้างสรรค์ได้อย่างแนบเนียน และก่อให้เกิดสุนทรียภาพ เพลงบางเพลงสอดคล้องกับอารมณ์ ความรู้สึก หรือชีวิตของผู้ฟัง เพลงบางเพลงเหมือนมีมนต์สะกดให้ผู้ฟังเคลิบเคลิ้ม และจินตนาการตัวเองเป็นนักร้องผู้นั้น ซึ่งกำลังสวมบทบาทตามลีลานักแสดงในมิวสิควีดีโอที่ปรากฏอยู่หน้าจอ เพลงบางเพลงอาจกระตุ้นต่อมคึก ทำให้รู้สึกอยากลุกขึ้นมาเต้นตามจังหวะที่ได้ยิน เพลงบางเพลงฟังแล้วหดหู่ เศร้าหมอง สะเทือนใจ ก่อให้เกิดความคิดถึง อาลัย อาวรณ์ เพลงบางเพลงฟังแล้วรู้สึกผ่อนคลาย เหมือนถูกฝังเข็มเพื่อ สะกดจุดรักษาอาการที่ไม่ปกติ จากความหลากหลายของเพลง ด้วยลีลาที่แตกต่างกันออกไป ในฐานะผู้บริโภคสื่อชนิดนี้คงต้องเลือกให้เหมาะสมกับตนเองในแต่ละอารมณ์ ความรู้สึก เลือกให้เหมาะกับทรัพย์ในกระเป๋า เพราะอาจมีปัญหากับงบประมาณประจำเดือน ใช้ให้เหมาะกับเวลาเพราะอาจมีปัญหากับคนข้างบ้าน ใช้ให้เหมาะกับสถานที่เพราะอาจมีปัญหากับคนรอบข้าง ใช้ให้เหมาะกับระดับเสียงที่คนเรารับได้ เพราะอาจมีปัญหากับการสูญเสียการได้ยิน ดังนั้นเพลงจะเป็นอาหารหลัก หรืออาหารเสริม ย่อมอยู่ที่การเลือก และการใช้ของท่านจริงหรือไม่

วันพุธที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

ไม่ต้องรอให้ถึงอนุบาลจริงหรือ


หนังสือเป็นสื่อส่งเสริมการเรียนรู้บนพื้นฐานความสนุกสนานและมีความสุขร่วมกันของผู้อ่านหรือผู้เล่ากับผู้ฟัง ซึ่งเป็นการเสริมสร้างทักษะพื้นฐานทางภาษาอย่างเป็นธรรมชาติในบรรยากาศที่เป็นกันเอง โดยเฉพาะเด็กเล็กๆประสบการณ์ทางภาษาที่ดีจากผู้ที่อยู่ใกล้ชิดด้วยการ ใช้ภาษาที่เป็นแบบอย่างและอ่านหรือเล่นผ่านสื่อที่ดีชนิดต่างๆ ย่อมมีค่าและความหมายต่อการส่งเสริมพัฒนาการทางกาย, อารมณ์ – จิตใจ, สังคม – คุณธรรม และสติปัญญาในปัจจุบันมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เห็นคุณค่าการอ่านและต้องการยกระดับมาตรฐานการอ่านของคนไทยให้สูงขึ้น ได้ร่วมกันดำเนินโครงการหนังสือเล่มแรกขึ้นในประเทศไทยโดยเริ่มจากเด็กอายุ 6 – 12 เดือนและสรุปผลการประเมินโครงการนำร่องดังกล่าวจากการศึกษาพฤติกรรมความกระตือรือร้นของพ่อแม่ที่ร่วมโครงการหนังสือเล่มแรกโดยอ่านหนังสือให้ลูกฟังและศึกษาพฤติกรรมจากเด็กทั้งกลุ่มครอบครัวที่ “พรั่งพร้อม” และครอบครัวที่มีสภาวะ “พร่อง” หนังสือได้แสดงผลของความสำเร็จที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมนั่นคือ เด็กมีพัฒนาการทางกายที่ดีขึ้นเพราะเด็กได้เคลื่อนไหวจากกิจกรรมขณะอ่าน เด็กมีพัฒนาการทางอารมณ์ที่ดีขึ้นจากการที่พ่อแม่อ่านหนังสือให้ฟัง เด็กจะตั้งใจฟังและยิ้มอย่างมีความสุข และบางครั้งเด็กหยิบหนังสือมาอ่านเองและร้องเพลงคลอตามลำพัง ที่สำคัญเด็กมีสภาวะทางจิตใจที่ดีเพราะเด็กมีหนังสือเป็นเพื่อน เด็กมีประสบการณ์ทางภาษาจากการฟังและมีปฎิสัมพันธ์กับแม่โดยการโต้ตอบทางปฏิกิริยา เด็กมีประสบการณ์ทางสติปัญญาจากการใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5ในการกระทำกับวัตถุ นั้นหละสิ่งที่เขาเรียกว่า เก็บสะสมข้อมูล ยิ่งมีข้อมูลมากเขายิ่งมีโอกาสสร้างองค์ความรู้ใหม่ได้มาก ดังนั้น ถ้าคุณเชื่อว่าเด็กวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้านั่นหมายถึง เด็กรักการอ่านในวันนี้ย่อมเป็นผู้ใหญ่รักการอ่านในวันหน้า เด็กมีข้อมูลสะสมเอความฉลาดในวันนี้ย่อมมีโอกาสที่จะเป็นผู้ใหญ่ที่ฉลาดในวันหน้าแล้วจะรอให้ถึงอนุบาลทำไมกัน วันนี้คุณอ่านหนังสือให้ลูกหลานฟังกันหรือยัง